หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

ฝ้าเพดานภายนอก ฝ้าชายคา(ตอนที่ 1)

Line

ฝ้าเพดานภายนอก ฝ้าชายคา(ตอนที่ 1)

Line
เมื่อเรายืนอยู่ภายนอกของบ้าน ณ บริเวณซุ้มทางเข้าบ้านและใต้ชายคาบ้าน เมื่อเงยหน้ามองขึ้นไปเหนือศรีษะ สิ่งที่เรามองเห็นคือฝ้าเพดานหรือที่เรียกกันติดปากว่า ”ฝ้าภายนอกหรือฝ้าชายคา” ซึ่งถือเป็นงานก่อสร้างส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมให้บ้านดูสวยงามและเรียบร้อยขึ้น จุดที่มักก่อสร้างหรือติดตั้งฝ้าภายนอกเอาไว้ อาทิเช่น บริเวณที่อยู่ใต้หลังคา ใต้กันสาด  ใต้ระเบียงหรือส่วนยื่น  โดยหน้าที่หลักของฝ้าภายนอกคือ ปิดบังส่วนที่ไม่เรียบร้อยของหลังคา บิดบังท่อน้ำฝนใต้ระเบียง ปิดความไม่เรียบร้อยของคอนกรีตพื้นใต้ระเบียง  ระบายความร้อนใต้โพรงหลังคา และใช้สำหรับการยึดแขวนดวงโคม โดยตำแหน่งที่ติดตั้งฝ้าเพดานภายนอกจะสัมผัสกับความร้อน และความชื้นของอากาศมากกว่าฝ้าภายเพดานภายในบ้าน ฉะนั้นวัสดุที่จะเลือกนำมาใช้ทำฝ้าเพดานส่วนนี้ จะต้องมีความคงทนต่อสภาวะของอากาศดังกล่าว ทีนี้ลองมาดูกันว่าวัสดุอะไรบ้างที่เราจะนำมาใช้ทำฝ้าภายนอกได้เหมาะสมบ้าง
 
กระเบื้องแผ่นเรียบ (โครงเคร่าไม้) ครองความนิยมใช้กันมาอย่างยาวนาน กว่า 40-50 ปีกระเบื้องที่ใช้มักจะใช้ความหนา 4 มม.โครงเคร่าไม้1 1/2”x3” ระยะห่างของโครงเคร่าที่ใช้กันคือ 50-60 เซ็นติเมตร การติดตั้งก็มักตีเว้นร่องบริเวณรอยต่อประมาณ 1 เซ็นติเมตร ลักษณะการติดตั้งฝ้ากระเบื้องแผ่นเรียบจะมีเคล็ดตรงที่จะต้องหันแผ่นกระเบื้องด้านหยาบออกโชว์ เนื่องจากต้องการให้กลืนกับหัวตะปูที่ตียึดแผ่น ส่วนโครงเคร่าไม้ที่ใช้ก็อย่าลืมทาน้ำยากันปลวกเสียด้วยนะครับ ข้อดีของฝ้าแบบนี้คือจะมีความเรียบ รอยต่อน้อย ข้อจำกัดก็คือการระบายอากาศไม่ดี ทำให้มีมวลอากาศร้อนสะสมใต้หลังคามาก ซึ่งส่งผลให้ห้องที่พักอาศัยอยู่มีอุณหภูมิสูงกว่าปรกติ ต้องใช้วิธีเจาะช่องระบายอากาศช่วยเพื่อลดความร้อนสะสมใต้หลังคา และแผ่นฝ้ามักจะกรอบ แตกบริเวณที่ตอกตะปูยึดแผ่นฝ้า

แผ่นยิปซั่มกันชื้นโครงเคร่าเหล็ก ขอเน้นนะครับว่าต้องเป็นแผ่นกันชื้น เพราะใช้กับงานภายนอกจะมีละอองความชื้นของน้ำฝน น้ำค้างเข้ามาสัมผัสกับแผ่นฝ้า ถ้าใช้แผ่นฝ้ายิบซั่มแบบธรรมดาจะมีปัญหาในเรื่องของการขยายตัว แอ่นตัวตามมา แต่ถึงแม้ว่าใช้แผ่นกันชื้นแล้วก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่าแผ่นฝ้ากันชื้นส่วนที่สามารถกันความชื้นได้คือ กระดาษที่นำมาปิดเนื้อยิปซั่มทั้งสองด้าน เนื้อยิปซั่มภายในไม่ได้กันชื้นด้วยนะครับ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือบริเวณที่ต้องฉาบรอยต่อแผ่นด้วยผงยิปซั่ม เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้จะไม่มีกระดาษปิด ความชื้นจะสัมผัสกับยิปซั่มโดยตรงซึ่งรอยต่อจะดูดซึมความชื้นเอาไว้ เมื่อสะสมมากขึ้นก็จะส่งผลให้สีที่ทาไว้บริเวณรอยต่อผิดเพี้ยนไป (ส่วนใหญ่จะเหลือง หรือออกสีน้ำตาลอ่อน) แนวทางป้องกันก็คือต้องใช้สีที่สามารถกันน้ำได้รองพื้นเสียก่อน หรือทาสีที่มีอัตราการดูดซึมน้ำน้อย ความสวยงามของฝ้าชนิดนี้เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วจะได้แผ่นฝ้าที่เรียบเนียน ไม่มีรอยต่อ สวยงามกว่าแบบแรก แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้นและซ่อมสีบ่อยกว่า

ไม้ระแนงโครงเคร่าไม้ โดยทั่วไปจะใช้ไม้ขนาดความหนา1/2 นิ้ว ความกว้างก็เริ่มตั้งแต่ 2-4 นิ้ว (กว้างกว่านี้ไม่นิยม) โครงเคร่าก็มักจะเป็นไม้ยางขนาด 1 1/2"x3" หรือเล็กกว่า ระยะห่างตั้งแต่ 30-50 เซ็นติเมตร ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ที่มาทำฝ้า ลักษณะการติดตั้งก็มักจะตีเว้นร่อง 5-8 มิลลิเมตร เพื่อให้สามรถระบายอากาศร้อนใต้หลังคาได้ การติดตั้งก็สามารถทำได้ 2 ทิศทางคือขนานกับชายคา หรือขวางตั้งฉากกับชายคา และก่อนติดแผ่นไม้เข้าไปจะต้องกรุตาข่ายกันแมลงก่อนซึ่งอาจใช้เป็นตาข่ายไนล่อน หรือไฟเบอร์ก็ได้ เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จก็ชนิดของไม้ที่จะนำมาใช้ก็ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าครับว่ามีขนาดใหนแผ่นไม้ที่เอามาทำฝ้านอกจากป็นไม้ชิ้นขนาดตามที่กล่าวมาข้างต้นที่นำตีเว้นร่องแล้ว มีอีกแบบซึ่งเป็นที่นิยมและมีราคาแพงกว่าคือ ไม้ฝ้าแบบรางลิ้น หรือบังไบ ซึ่งฝ้าเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จจะมีความสวยงามมากกว่า จะมีความเรียบร้อยมากกว่า แต่ก็จะมีข้อเสียในเรื่องการระบายอากาศเช่นเดียวกับสองแบบแรก ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหาโดยการเจาะรูหรือทำร่องยาวเป็นจุดๆ เพื่อให้ระบายอากาศได้ ข้อเสียของฝ้าไม้ทั้งสองแบบนี้ก็คือปัจจุบันไม้ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ การยืดหดตัว การบิดตัว มดแมลงและปลวก ไม้ที่มีคุณภาพดีหาได้ยากหรือมีราคาแพง ขั้นตอนการติดตั้งก็ค่อนข้างยากและทำงานได้ช้า
 
ที่มานิตยสาร Life and Home ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line