ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
นิตยสารบ้านสุขใจ
Line
04 พ.ค.2560

เมษายน 2560

Line
          “เมื่อถึงเดือนเมษา หนุ่มบ้านนานั่งฝัน…” สวัสดีครับ ฉบับนี้ขออนุญาตนำคำร้องท่อนแรกเพลง หนุ่มนารอนาง ของบรมครูเพลง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาขึ้นต้นเขียน เพื่อจะได้ล้อกับบรรยากาศเดือนเมษายนนี้ ซึ่งตรงกับปีใหม่ไทยและเทศกาลวันสงกรานต์ เราชาวไทยและชาวต่างชาติที่เฝ้ารอจะได้เล่นสาดน้ำสนุกสนานกันอีกครั้ง แต่ก่อนจะถึงวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีนี้ ก็มีเหตุให้เป็นดราม่าเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาล คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งบังคับใช้กฏหมายว่าด้วยการห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ฯลฯ ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เท่านั้นแหละ..งานเข้าครับ 

          เรื่องนี้ สื่อมวลชนและคอลัมน์นิสต์ชื่อดังหลายท่าน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันดุเดือดว่ามีไอ้โม่งอยู่เบื้องหลัง เพราะผลต่อเนื่องเรื่องนี้มีการกล่างถึงผลประโยชน์ทับซ้อน เกี่ยวกับค่าปรับที่ผู้กระทำผิดต้องจ่ายให้หน่วยงานภาครัฐ ที่บริษัทผู้เตรียมรับสัมปทานติดกล้องวงจรปิดจะได้ส่วนแบ่งรายได้จากค่าปรับดังกล่าว จริงเท็จประการใดผู้เขียนไม่ยืนยัน แต่ก็ขออย่าให้เป็นจริงเลย และโชคดีที่รัฐบาลยอมถอยหรือชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน มิฉะนั้นประชาชนชาวรากหญ้าคงเดือดร้อนกันทั่วหน้า..เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไปครับ

          สถิติที่ผ่านมา เดือนเมษายนนี้ถือเป็นเดือนที่มีฤกษ์งามยามดี เกี่ยวกับการสร้างบ้านใหม่หรือขึ้นบ้านใหม่ของคนไทย ดังจะเห็นว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ จึงเริ่มลุยงานสร้างบ้านหลังใหม่ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเป็นหลัก ในส่วนงานขายบ้านหรืองานการตลาดช่วงนี้ก็ผ่อน ๆ ลงดังเหตุผลข้างต้น อีกทั้งเดือนเมษายนก็มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง หากจะจัดกิจกรรมการตลาดก็คงต้องเป็นช่วงวันท้าย ๆ เดือนนี้หรือต้นเดือนหน้าจึงจะเหมาะกว่า
 
   

          ผู้เขียนมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่า กลุ่มประชาชนที่ต้องการสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง (ไม่ใช่ ซื้อบ้านจัดสรร) ร้อยละ 80-90 จะตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ เมื่อตัวเองมี “ความพร้อม” และ “ความจำเป็น” คือเหตุผลสำคัญ โดยความพร้อมที่ว่านี้ได้แก่ ความพร้อมด้านการเงิน เช่น เมื่อออมเงินพร้อมหรือมีเงินออมเพียงพอแล้ว ก็จะไม่สนใจว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ จะเป็นอย่างไร ส่วนความจำเป็นก็คือ เมื่อสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะลูก ๆ เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว จำเป็นต้องมีความเป็นส่วนตัว หรืออาจมีสมาชิกตัวน้อยๆ เพิ่มขึ้น ผู้นำครอบครัวก็จะพร้อมลงทุนสร้างบ้านใหม่ในทันที

          ผู้เขียนเกริ่นถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า มีเพื่อน ๆ ในวงการรับสร้างบ้านและวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง เอ่ยถามถึงสถานการณ์ตลาดบ้านสร้างเองด้วยความกังวลว่าเป็นอย่างไร ความกังวลที่ว่านั้น มีสาเหตุมาจากความไม่มั่นใจต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาฯ และวัสดุก่อสร้างที่อาการไม่สู้ดีมา 2-3 ปีแล้ว โดยมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งมีบางท่านประเมินว่าปี 2560 นี้ สถานการณ์จะหนักกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา (ปีก่อน ๆ ก็หนักมากแล้วนะ) 

        หากให้..ฟันธง ก็ต้องบอกว่าภาพรวมตลาดบ้านสร้างเองนั้น ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเช่นกัน แต่มีสถิติชี้ชัดว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ที่ผ่านมาใช้เงินเก็บหรือเงินออมสร้างบ้านหลังใหม่ เกินกว่าร้อยละ 50 มาโดยตลอด ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเฟื่องฟูหรือหดตัว สถิติการกู้ยืมเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ก็ไม่เคยขยับเกิน 50% ของมูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน แตกต่างจากกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจัดสรร พบว่าส่วนใหญ่หรือกว่า 80% กู้ยืมเงินหรือใช้สินเชื่อธนาคาร เมื่อใดที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือเปราะบาง ธนาคารก็จะเข้มงวดการให้กู้ยืม เมื่อนั้นแรงซื้อหรือกำลังซื้อก็จะหดตัวรุนแรง ดังเช่นที่ประสบกันในอดีตและปัจจุบัน 

          แต่ปัญหาของตลาดบ้านสร้างเองในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน สำหรับผู้เขียนแล้วก็มีประเด็นที่กังวล กล่าวคือ การเข้ามาของผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหม่จำนวนมาก อาจเป็นกลุ่มที่เคยรับเหมาก่อสร้างทั่วไปมาก่อน หรือกลุ่มสถาปนิกและวิศวกรที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในเชิงบริหารธุรกิจสร้างบ้านและการให้บริการลูกค้ามาดีพอ ซึ่งการเข้ามาใหม่ของกลุ่มนี้ ก็หนีไม่พ้นใช้วิธีแข่งขันตัดราคา เพื่อหวังให้ได้งานหรือลูกค้ามาก่อน และด้วยความด้อยประสบการณ์ในเชิงบริหาร เมื่อได้ลูกค้าหรืองานสร้างบ้านแล้วก็ตาม ยังน่ากังวลว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ประเด็นนี้ กลายเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการรายเดิม ๆ ต้องปวดหัวหนัก เพราะไม่อาจเสนอราคาต่ำเกินจริงได้ ต้องเสียลูกค้าบางส่วนให้กับรายใหม่ ๆ กลุ่มนี้ไป 



          อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างก็ยังสามารถขายสินค้าได้ เพียงแต่ต้องระมัดระวังเงื่อนไขการซื้อขายมากเป็นพิเศษ ป้องกันมิให้กลายเป็นหนี้สูญ...เอาใจช่วยทุกท่านนะครับ
 
นายสิทธิพร สุวรรณสุต
ซีอีโอ พีดีเฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล