ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
นิตยสารบ้านสุขใจ
Line
12 ต.ค.2560

กันยายน 2560

Line
          “เมื่อไรหนอ ประเทศไทยจะกลับคืนสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเสียทีนะ” เพื่อเราจะได้มีสิทธิ์และใช้สิทธิ์ใช้เสียง เลือกตัวแทนให้เป็นผู้บริหารประเทศเหมือนก่อนหน้านี้ ณ เวลานี้เราไม่ต้องการให้ใครมาริดรอนสิทธิ์ของเรา แล้วอ้างสิทธิ์ขอทำหน้าที่เป็นผู้บริหารประเทศเสียเอง อ้างจะคืนความสุข อ้างความปรองดองจะเกิดขึ้น และอ้างโน่นอ้างนี่ต่างๆ นานาว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ทว่าเอาเข้าจริงๆ ในช่วง 3 ปีเศษที่ผ่านมา อะไรๆ ก็ดูจะไม่เป็นดังที่กล่าวอ้าง โดยเฉพาะความเป็นอยู่และการทำมาหากินของประชาชนระดับรากหญ้า และบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ทำมาค้าขายฝืดเคืองมาโดยตลอด สวนทางกับเสียงคุยโวจากผู้บริหารประเทศ ที่ออกมาประกาศปาวๆ เป็นระยะๆ ว่าเศรษฐกิจเติบโตๆ…”
 
          ประโยคข้างต้นคือ เป็นบทสรุปการสนทนาของบุคคลกลุ่มหนึ่ง (5-6 ท่าน) ที่ผู้เขียนบังเอิญมีโอกาสได้ยินได้ฟังมาและก็เห็นว่าน่าสนใจดี จึงหยิบยกเอามาเขียนเกริ่นนำลงในคอลัมน์ “เก็บมาเล่า” ประจำเดือนกันยายนฉบับนี้ เชื่อว่าประโยคข้างต้นย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายอย่าถึงกับนำความเห็นต่าง มาเป็นประเด็นขัดแย้งจนถึงขั้นกลายเป็นศัตรูกัน เพราะความเห็นทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาเอาเป็นเอาตายกัน...เขียนเรื่องนี้แล้วไม่สนุก ขอเปลี่ยนเรื่องดีกว่านะครับ  
 
        
          มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับความไม่เข้าใจของหลายๆ ท่าน ต่อกรณีของการพิจารณาว่าจะเราเลือกสร้างบ้านกับใครดีระหว่าง “ผู้ประกอบการสร้างบ้าน” กับ “ผู้รับเหมารายย่อย” ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้ง 2 ฝ่ายก็มีข้อดี-ข้อเสียและเหตุผลสนับสนุนให้เลือกใช้บริการแตกต่างกันไป และทั้ง 2 ฝ่ายก็มีตัวเลือกมากมาย (จนเลือกไม่ถูก) 
 
          ผู้เขียนอยากบอกว่า จะเลือกรูปแบบผู้รับจ้างสร้างบ้านแบบใดก็ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ขอให้ผู้ประกอบการที่เราเลือกเป็นตัวจริงเสียงจริงก็แล้วกัน ซึ่งก็หมายถึง เป็นมืออาชีพหรือมีความเชี่ยวชาญในสาขาการบริหารและก่อสร้างบ้าน เพราะหากไม่มีความถนัดหรือไม่เชี่ยวชาญเรื่องบ้านจริง อาจผิดหวังได้เช่นกัน 
 
          ด้วยเพราะงานออกแบบและก่อสร้างบ้านนั้น มีความยาก มีรายละเอียด และแตกต่างจากงานอาคารทั่วๆ ไป ที่สำคัญมีเรื่องของรสนิยมและความพึงพอใจของผู้ว่าจ้างเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ถ้าเป็นภาษาคนในวงการก่อสร้างก็จะรับรู้กันว่า งานสร้างบ้าน เป็นงานจุกจิก ทำงานได้ปริมาณน้อยหรือได้เงินน้อย เมื่อเทียบกับงานก่อสร้างประเภทอื่นๆ เช่น อาคารพาณิชย์ อาคารสาธารณะขนาดใหญ่ ดังนั้น ผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน จึงเริ่มต้นหรือมีที่มา 2 ประเภทคือ 1.ใจรักหรือรักในอาชีพ และ 2.ทุนน้อย   
 
          เหตุผลข้อแรกที่ว่า “ใจรัก” นั้นอาจเริ่มต้นครั้งแรกๆ จากเหตุผลข้อที่ 2 ก็ได้ เมื่อดำเนินธุรกิจไปเรื่อยๆ ก็เกิดใจรักและพัฒนาธุรกิจตัวเองอยู่ตลอดเวลา กระทั่งประสบผลสำเร็จหรือเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการประเภทนี้แหละที่น่าวางใจได้ว่าเป็น “มืออาชีพ” อย่างไรก็ตาม ควรระวังผู้ประกอบการประเภทที่อยู่มานานก็จริง แต่ธุรกิจไม่ได้พัฒนาหรือย่ำอยู่กับที่มาตลอด ประเภทนี้ประสบการณ์ยาวนาน แต่อาจไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพที่แท้จริง 

 
 
          สำหรับประเภท “ทุนน้อย” ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเริ่มต้นหรือ
แข่งขันกับรายอื่นๆ ในธุรกิจก่อสร้างได้ ทำให้ต้องเลือกทำธุรกิจรับสร้างบ้าน เพราะใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่มาก มีการจ้างแรงงานน้อยกว่างานก่อสร้างอื่นๆ จำนวนไม่น้อยที่เริ่มต้นทำธุรกิจสร้างบ้านแต่สุดท้ายก็หันไปรับงานก่อสร้างอาคารประเภทอื่นด้วยหลายๆ เหตุผลที่กล่าวมา
 
          ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือก “บริษัทรับสร้างบ้าน” หรือ “เลือกผู้รับเหมา” ก็ไม่ต่างกันมากนัก ในเรื่องของค่าก่อสร้างและงานก่อสร้าง หากรายที่เราเลือกนั้นเป็นมืออาชีพ แต่จะมีแตกต่างกันก็คงเป็นเรื่องของงานบริการที่ได้รับ ซึ่งหากเป็น “บริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพ” ก็จะมีบริการก่อนและหลังการขายที่ครอบคลุมมากกว่า ตั้งแต่เรื่องการออกแบบบ้าน การประสานงานกับหน่วยงานราชการ บริการติดต่อและอำนวยความสะดวกด้านสินเชื่อธนาคาร การให้คำปรึกษาต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งการให้บริการบางอย่าง “ผู้รับเหมารายย่อย” อาจไม่สามารถทำได้  สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ 
 
1. การศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการ 
2. ศึกษาความเป็นมาของผู้ประกอบการ

          ผู้เขียน พบว่าผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ไม่ค่อยสนใจที่จะศึกษาเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นแก่นแท้ของเหตุและผลในการตัดสินใจ ส่วนใหญ่มักจะให้ความสนใจแค่เรื่องราคา โดยเฉพาะประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ คือ “ราคาตารางเมตรละเท่าไร” แล้วก็เลือกตัดสินใจเพราะราคาต่อตารางเมตรถูกที่สุด เรื่องนี้ก็พอจะสะท้อนความจริงที่ว่าคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ ทั้งๆ ที่ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 7 หลัก (หลักล้าน) ซึ่งไม่ได้หามาง่ายๆ แต่กลับขาดการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และนี่ก็เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง “ผู้บริโภค” กับ “ผู้ประกอบการ” ตามมาและเมื่อกลายเป็นคดีความหรือขึ้นโรงขึ้นศาลกัน เกือบร้อยทั้งร้อยผู้บริโภคนั่นแหละที่มีแต่..เสียกับเสีย 

          ศึกษาข้อมูลกันให้มากๆ ก่อนตัดสินใจ ปัญหาจะได้ไม่เกิดหรือลดลงครับ
 
นายสิทธิพร สุวรรณสุต
ซีอีโอ พีดีเฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล