ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
01 ส.ค.2562

สัญญาณเปราะบางวิกฤติอสังหาฯ ฟองสบู่จะแตกหรือไม่ ซ้ำรอยปี 40

Line
      ปัญหาคอนโดฯล้นตลาดเกินความต้องการ จนบริษัทผู้นำด้านอสังหาฯชื่อดัง ต้องประกาศขายห้องชุดหลุดดาวน์ด้วยการลดราคา หรือเป็นการส่งสัญญาณในเรื่องไม่ปกติ ฟองสบู่จะแตกเหมือน 20 กว่าปีก่อนหรือไม่ เพราะขณะนี้เข้าสู่กลางปี 62 เศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องขึ้น และที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ออกมาตรการคุมเข้มปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ไม่ให้เกิดเงินทอน เงินเหลือ จากการเก็งกำไรในหลากหลายรูปแบบ
 

​      หากย้อนไปในอดีตเมื่อปี 40 ฟองสบู่อสังหาฯ แตกดังโพละสร้างความเจ็บปวดเสียหายให้กับธุรกิจ จากการซื้อกักตุนเก็งกำไร จนเกิดโอเวอร์ซัพพลายจากโครงการอสังหาฯ เปิดตัวขึ้นมามากมายจนล้นตลาด และดูคล้ายๆ ปัจจุบัน โดยเฉพาะคอนโดฯห้องชุด ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด

​      “ทีมเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ “ดร.โสภณ พรโชคชัย” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ระบุสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลัง 2562 จะมีสินค้าที่อยู่อาศัยเหลือมาจากครึ่งแรกของปี จำนวน 204,585 หน่วย รวมมูลค่า 830,289 ล้านบาท ทั้งนี้ 43.4% เป็นห้องชุดพักอาศัย รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 30.1% บ้านเดี่ยวอีก 16.9% นอกนั้นเป็นอื่นๆ

​      ทั้งนี้ 29% ของหน่วยที่อยู่อาศัยที่เหลือ ขายในราคา 2-3 ล้านบาท โดยนับเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด อาจกล่าวได้ว่าทาวน์เฮาส์ราคา 2-3 ล้านบาท มีเหลืออยู่มากที่สุด คือ 28,988 หน่วย หรือ 14.2% ของทั้งหมด รองลงมาเป็นห้องชุดราคา 2-3 ล้านเช่นกัน จำนวน 24,680 หน่วย (12.1%) ส่วนบ้านเดี่ยวที่มีเหลือขายมากที่สุดก็คือในระดับราคา 5-10 ล้านบาท จำนวน 14,114 หน่วย หรือ 6.9% ของสินค้าที่เหลือทั้งหมด

​      ส่วนฟองสบู่จะแตกหรือไม่นั้น ยืนยันฟองสบู่ไม่แตก เพราะไม่มีฟองสบู่ ฟองสบู่กำลังแฟบ เนื่องจากด้านอุปทานใหม่จะมีจำนวนทั้งปีประมาณ 110,994 หน่วย มูลค่ารวม 439,535 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น (พัฒนาขนาดโครงการเล็กลง) จำนวนหน่วยขาย มูลค่าโครงการลดลง ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยอาจจะลดลงเล็กน้อย  ประมาณการหน่วยขายเปิดใหม่ทั้งปี ถ้าเปิดขายใกล้เคียงครึ่งปีแรก จะลดลงประมาณ -11.3% และมูลค่าลดลงประมาณ -22.3% จากปี 2561 อุปทานคงเหลือทั้งตลาดมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ประมาณ (7-10%) เนื่องจากมีจำนวนอุปทานเปิดใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยลง อุปทานเหลือสะสมจึงลดลงตาม

​      อย่างไรก็ตาม นักเก็งกำไรจะประสบปัญหามาก เพราะมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV (Loan to Value) ของธนาคารแห่งปรเทศไทย ทำให้ไม่สามารถโอนได้ หรือบางส่วนอาจทิ้งการผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินสั่นคลอนได้ระดับหนึ่ง 

​      “สรุปแล้ว ผู้ประกอบการคงไม่เจ๊ง หากไม่เปิดตัวโครงการมากมาย สถาบันการเงินอาจประสบปัญหาบางส่วนจากนักเก็งกำไร ส่วนนักเก็งกำไร จะเจ๊งในปี 2562 นี้”

​      ขณะที่ต่างชาติมาซื้อห้องชุดในไทยลดลงโดยเฉพาะจีน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีห้องชุดขายได้แล้วประมาณ 26,680 หน่วย โดยต่างชาติซื้อ 3,659 หน่วย หรือประมาณ 14% ของหน่วยขายทั้งหมด ในแง่มูลค่าพบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีห้องชุดขายได้แล้วประมาณ 93,648 ล้านบาท โดยต่างชาติซื้อ 17,783 ล้านบาท หรือประมาณ 19% ของมูลค่าของหน่วยขายทั้งหมด แต่เดิมต่างชาติมีการซื้อมากกว่านี้ แต่เชื่อว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจไม่ได้จบด้วยผลกระทบต่อไทยมากนัก

 
​      อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการเกิดฟองสบู่แตก รัฐบาลควรคุ้มครองเงินดาวน์ของคู่สัญญา เพื่อเร่งสร้างความมั่นคงให้กับระบบตลาดที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลควรมีนโยบายให้บริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหลายและผู้บริโภคปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 ที่กำหนดการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคโดยพร้อมเพรียงกัน โดยจากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่ากลางปี 2562 มีบ้านที่ยังรอผู้ซื้ออยู่ประมาณ 204,585 หน่วย โดยในจำนวนนี้มีหน่วยที่แล้วเสร็จ 100% เพียงส่วนน้อยมาก ดังนั้นจึงมีความเปราะบางในระบบซื้อขายที่อยู่อาศัยอยู่พอสมควร

​      “หากเกิดปัญหาวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ขึ้น อาจส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ซื้อบ้าน ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินเช่นในอดีตและในปัจจุบัน โดยที่พระราชบัญญัตินี้เป็นแบบสมัครใจ จึงแทบไม่มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีนโยบายขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ แทนที่จะเป็นแบบสมัครใจเช่นในปัจจุบัน ผลดีที่จะตามมาก็คือผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการคุ้มครองของตลาดอสังหาริมทรัพย์และมาซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เป็นการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายทางหนึ่ง ที่ผ่านมาเห็นมีการพยายามแก้กฎหมายนี้อยู่นาน แต่ก็อืดเป็นเรือเกลือ ไม่ได้นึกถึงประโยชน์ของประชาชนและผู้ประกอบการที่จะให้ได้รับการยอมรับจากตลาดเท่าที่ควร”

​      นอกจากนี้ควรมีมาตรการในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะทุกวันนี้สถาบันการเงินได้ส่วนต่างดอกเบี้ยสูงถึงประมาณ 5% เป็นการค้ากำไรเกินควร ควรลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยอาจให้สถาบันการเงินต่างประเทศมาแข่งขันมากขึ้น จะทำให้ตลาดเป็นของผู้บริโภคมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็จะมั่นคงขึ้น.

ที่มา : thairath.co.th
(วันที่ 1 สิงหาคม 62)