ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
13 ธ.ค.2556

รื้อประเมินที่ดินใช้รายปี คลังหาช่องรีดภาษี/คนโอนบ้านอ่วม!

Line
            กระทรวงคลังถอนขนห่าน  รื้อใหญ่ราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศ 30 ล้านแปลงปรับแบบรายปีหารายได้เข้ารัฐ รับโครงสร้างพื้นฐานรัฐ รถไฟฟ้า  รถไฟความเร็วสูง  ถนนสายใหม่ทำราคาพุ่งรายวันจากที่ผ่านมาบังคับใช้นาน 5 ปี จาก ปี 55-59 ชี้ หวังสะท้อนราคาตลาดที่แท้จริง สั่งธนารักษ์ศึกษากำลังคน-งบประมาณเร่งด่วน ปลายปีนี้คนโอนบ้านอ่วม ขณะที่กทม.ได้ประโยชน์ภาษีโรงเรือนเอกชนเผยเฉลี่ยราคาที่ดินขยับปีละ20%

                

    นายนริศชัยสูตรอธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"  ว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง มอบนโยบายให้กรมธนารักษ์ปรับเกณฑ์การบังคับใช้ราคาประเมินที่ดินเป็นรายปี จากปัจจุบันประกาศใช้ในระยะเวลา 5 ปี (ปี2555-2559) ซึ่งอาจตามไม่ทันราคาตลาด และความเคลื่อนไหวราคาที่ดินที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตของเมือง มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนสายใหม่ การพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น
    โดยล่าสุดกรมได้มอบให้สำนักประเมินราคาทรัพย์สินศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะต้องใช้จำนวนบุคลากรและงบประมาณเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนเพื่อให้สอดรับกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีจำนวนที่ดินกว่า 30 ล้านแปลง ปัจจุบัน มีจำนวน 7 - 8 ล้านแปลง  ประเมินที่ดินเป็นรายแปลง อาทิ กรุงเทพมหานคร ฯลฯ   นอกนั้นยังประเมินเป็นรายบล็อกเนื่องจาก งบประมาณและบุคลากรมีจำกัด ซึ่งต้องจ้างเอกชนเข้ามาช่วยงานประเมินมากขึ้น
                 สำหรับนโยบายปรับราคาประเมินที่ดินปีต่อปี ดังกล่าวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี  เพราะจะสะท้อนจากราคาจริงที่เกิดขึ้น โดยจะใช้รูปแบบประเมินเหมือนกรุงเทพมหานคร ที่ประเมินที่ดินทุกปีเพื่อเรียกเก็บภาษีโรงเรือน  อย่างไรก็ดีการปรับราคาประเมินทุกปีของธนารักษ์จะเป็นผลดีต่อกรุงเทพมหานคร  แต่คนซื้อบ้านอาจจะกระทบบ้างเพราะจะเสียค่าโอนสูงขึ้นในแต่ละปี   
                  ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร กรมที่ดิน กล่าวว่า ปัจจุบันราคาประเมินที่ดินประกาศใช้ 5 ปี นับจากปี 2555 -2559 อย่างไรก็ดีหากกรมธนารักษ์จะศึกษา และใช้รายปีจะส่งผลกระทบต่อคนโอนบ้านซึ่งจะมีทั้งราคาเพิ่มขึ้นและลดลง แต่แนวโน้มราคาจะปรับเพิ่มขึ้น แต่จะมีผลเพียงครั้งเดียว เพราะส่วนใหญ่คนซื้อบ้านไม่บ่อย  แต่ที่กระทบมากที่สุดจะเป็นผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ เพราะต้องซื้อที่ดินพัฒนาโครงการต่อเนื่อง ทำให้เกิดการโอนที่เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
                  "แน่นอนว่า จะมีการผลักภาระค่าใช้จ่ายบวกเข้าไปในราคาขายบ้าน และคอนโดมิเนียมอย่างแน่นอน คนที่รับเคราะห์คือผู้บริโภคจะซื้อที่อยู่อาศัยแพงขึ้นเพราะราคาที่ดินจะขึ้นทุกปี โดยเฉพาะทำเลรถไฟฟ้าที่ราคาขยับขึ้นกว่า 100%  ในมุมกลับเมื่อประเมินราคาที่ดินและบังคับใช้รายปี ก็จะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้เข้าคลังเพื่อบริหารประเทศได้มากขึ้น    แต่ปัญหาใหญ่ก็คือกำลังคนว่าจะมีเพียงพอที่จะประเมินครบทุกพื้นที่หรือไม่"
                  ต่อเรื่องนี้นายวสันต์ คงจันทร์  กรรมการผู้จัดการบริษัท โมเดิร์นพร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนส์ จำกัด   กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างเอกชนซึ่งเป็นบริษัทประเมินเข้ามาช่วยงานประเมินที่ดินรายแปลง 30ล้านแปลงทั่วประเทศ  เนื่องจาก กำลังเจ้าหน้าที่มีจำกัด ซึ่งปี 2556 ได้ประเมินรายแปลง 5 หมื่นแปลง ที่จังหวัดสระบุรี ส่วนจังหวัดใหญ่ๆ เช่นภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา  ฯลฯ   ส่วนใหญ่ราคาประเมินรายแปลงจะอยู่ในเขตเทศบาล และหากประเมินราคาที่ดินทุกปี จะต้องให้เอกชนมารับงานมากขึ้นโดยเสนอให้ 1บริษัท ต่อ 1จังหวัดเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ และจะช่วยกระจายงานให้เอกชนทางอ้อมที่สำคัญหากมีการบังคับใช้ภาษีที่ดิน รัฐจะเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สำหรับราคาที่ดินเฉลี่ยจะขยับขึ้น กว่า 20% ต่อปีซึ่งราคาประเมินจะต่ำกว่าราคาตลาดบ้างแต่ไม่มาก  เมื่อมีการประเมินทุกปีปรับทุกปีหากพบว่าทำเลไหนมีความเคลี่ยนไหวสูงด้วยอิทธพลรถไฟฟ้าหรือมีการพัฒนาเกิดขึ้นราคาประเมินก็จะสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคนโอนบ้านจะเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
                   สำหรับราคาประเมินที่ดินที่บังคับใช้ในปัจจุบันนับจากวันที่  1 กรกฎาคม 2555-2559 ทั่วประเทศปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% และหากประกาศไปแล้วเห็นว่าราคาไม่สะท้อนความเป็นจริงก็สามารถเสนอเรื่องมายังกรมธนารักษ์ เพื่อพิจารณาเป็นราย ๆ ได้ ทั้งนี้ราคาประเมินสูงสุด อาทิ ย่านสีลม ช่วงแยกศาลาแดง ถึงแยกนราธิวาสราชนครินทร์ ตารางวาละ 8.5 แสนบาท เพิ่มขึ้น 31% จากรอบบัญชี ปี 52251-2554 ราคาตารางวาละ 6.5 แสนบาท ถนนราชดำริ แยกราชประสงค์ถึงคลองแสนแสบ ตารางวาละ 3.5 แสนบาท  ถนนพระรามที่ 1 แยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ตารางวาละ 8 แสนบาท  ถนนเพลินจิต ตลอดสาย ตารางวาละ 4.3 แสนบาท  ถนนราชดำริ แยกศาลาแดงถึงแยกราชประสงค์ และถนนเยาวราช ตลอดสาย ตารางวาละ 7 แสนบาท  ถนนวิทยุ ตารางวาละ 5 แสน-7 แสนบาทเพิ่มขึ้น 42.86-100%  ถนนสาทรตารางวาละ 4.5 - 6 แสนบาทเป็นต้น


โดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,904  วันที่ 12 - 14  ธันวาคม  พ.ศ. 2556