หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

เพิ่งจบใหม่มีเงินเดือนกินก้อนแรกในชีวิต ระหว่างซื้อ "บ้าน-คอนโดฯ-รถ" อะไรดีกว่ากัน

Line

เพิ่งจบใหม่มีเงินเดือนกินก้อนแรกในชีวิต ระหว่างซื้อ "บ้าน-คอนโดฯ-รถ" อะไรดีกว่ากัน

Line

ประเทศไทยมีประชากรคนไทยสัก 60 กว่าล้านคน คงมีไม่กี่คนที่จบปุ๊บ ทำงานปั๊บ มีเงินเดือนปึ๊บ แล้วจะเลือกซื้อของชิ้นใหญ่ได้พร้อมๆ กัน อย่างบ้านกับรถ เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่กระเป๋ามีจำกัดอย่างเรา ๆ ถึงแม้จะอยากได้มากมายแค่ไหนแต่ก็จำเป็นต้องเลือกต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง

ข้อแรกที่พึงทราบคือ สินเชื่อซื้อบ้าน ดอกเบี้ยจะถูกกว่าสินเชื่อซื้อรถ เพราะใช้ระบบ "ตัดต้นตัดดอก" หมายความว่าถ้าผ่อนเกินค่างวดในแต่ละเดือน เงินชำระส่วนที่เกินจะไปตัดเงินต้นทันที ตัวอย่างเช่น ซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี ค่างวดที่ต้องจ่ายรวมดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 7,000 บาท ถ้าหากว่าคุณจ่าย 10,000 บาท เท่ากับมีสองก้อนคือ ก้อนแรก 7,000 บาทแบงก์จะหักชำระเป็นค่างวดปกติ อีกก้อนคือเงินเกินมา 3,000 บาท แบงก์เขาจะไปหักเงินต้นให้ทั้งหมด ผลลัพธ์คือเงินต้นลด ดอกเบี้ยก็จะลดตามไปด้วย มีค่าเฉลี่ยออกมาแล้ว แบงเกอร์หลายคนพูดตรงกันว่าคนที่ผ่อนบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่เราซื้อมาในราคา 1-3 ล้านบาท จะผ่อนหมดภายในเวลาระหว่าง 8-15 ปี มีน้อยมากที่จะผ่อนจนครบตามสัญญากู้ 20-30 ปี กลับมาดูสินเชื่อซื้อรถ เขาเรียกกันว่า "สัญญาเช่าซื้อ" หรือลีสซิ่ง สินเชื่อประเภทนี้เซ็นสัญญากู้ไปแล้วจะเอาเงินมาโปะเงินต้น เขาก็ไม่สนใจหรอก ดอกเบี้ยจะถูกล็อกล่วงหน้าตายตัว ตัวอย่างเช่น กู้ซื้อรถ 5 แสนบาท ดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 4 ปี หรือ 48 เดือน (มาถึงตรงนี้ขอแอบนินทาหน่อยเหอะ วงการรถยนต์แข่งขันกันมาก เสนอสินเชื่อลีสซิ่งปาเข้าไป 84 เดือน หรือ 7 ปี บางคนบอกว่าเป็นสินเชื่อเจ็ดชั่วโคตร)

วิธีการคำนวณงวดผ่อน เขาจะนำอัตราดอกเบี้ย 2% มาคำนวณว่าเงินต้น 5 แสนบาท คิดเป็นดอกเบี้ยปีละ 10,000 บาท จากนั้นอายุสินเชื่อ 4 ปี เท่ากับดอกเบี้ยรวม 40,000 บาท จากนั้นจะนำมาบวกกับเงินต้นรวมเป็น 540,000 บาท แล้วจึงนำมาหารด้วยจำนวนเดือน ซึ่งก็คือ 48 เดือน เท่ากับสินเชื่อลีสซิ่งก้อนนี้จะมีงวดผ่อนเดือนละ 11,250 บาท (540,000 หารด้วย 48 เดือน) มาถึงตรงนี้ จากตัวอย่างจะเห็นว่าเงินกู้ซื้อบ้าน 1 ล้านบาท ระยะเวลา 20 ปี งวดผ่อนเฉลี่ยเดือนละ 7,000 บาท ข้อดีคือ "ต้นต้นตัดดอก" ได้ มาถึงตรงนี้ จากตัวอย่างจะเห็นว่าเงินกู้ซื้อรถ 5 แสนบาท ระยะเวลา 4 ปี ดอกเบี้ย 2% งวดผ่อนเฉลี่ยเดือนละ 11,250 บาท ข้อเสียคือ "ตัดต้นไม่ได้-ตัดดอกก็ไม่ได้"พูดง่าย ๆ ก็คือถอยรถมาได้ 2 เดือนแล้วดันถูกหวย จะเอาเงินต้นไปโปะ 5 แสนบาท เพื่อให้เขายกเว้นดอกเบี้ย 4 หมื่นบาท บอกได้เลยว่าทำไม่ได้ค่ะ ต้องจ่ายดอกเบี้ย 4 หมื่นบาทไม่ว่าจะจ่าย 48 งวดหรือจ่าย 2-3 งวดก็ตาม อันนี้เป็นหลักการกว้างๆ ของลีสซิ่งนะ (ปัจจุบันในตลาดมีข้อเสนอสินเชื่อลีสซิ่งเร้าใจเยอะแยะ ไปหาดูเองก็ละกัน)

ดังนั้น ข้อแนะนำก็คือ ระหว่างซื้อบ้านกับซื้อรถ ความสามารถในการผ่อนน่าจะเป็นโจทย์ข้อแรก ๆ ของคุณว่าเงินเดือนแต่ละเดือนเหลือมากน้อยแค่ไหน พอจะเริ่มผ่อนอะไรได้ก่อนกัน โดยที่ต้องไม่ลืมว่าถ้าเลือกซื้อรถ ตัวรถเป็นแค่สินค้า 1 ชิ้น แต่คุณจะมีรายจ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง อะหลั่ย ค่าประกันภัย ค่าล้างรถ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ค่างวดก็อย่าลืมบวกรายจ่ายพวกนี้ไปด้วยล่ะ ส่วนถ้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะบ้านหรือคอนโดฯ ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ต้องเตรียมไว้ก็คือ "ค่าพื้นที่ส่วนกลาง" เป็นเงินลงขันที่ลูกบ้านทุกหลังในโครงการจัดสรรจะต้องเฉลี่ยจ่ายตามขนาดอสังหาฯ ที่คุณซื้อ เช่น ถ้าซื้อบ้าน ค่าส่วนกลางเขาจะคิดเป็นบาทต่อตารางวา ถ้าเป็นคอนโดฯ เขาจะเรียกเก็บเป็นบาทต่อตารางเมตร เช่น ซื้อบ้าน 50 วา ค่าส่วนกลางวาละ 40 เท่ากับค่าส่วนกลางของคุณคือเดือนละ 2,000 บาท ถ้าซื้อคอนโด 30 ตารางเมตร ค่าส่วนกลางตารางเมตรละ 30 บาท ค่าส่วนกลางของคุณคือเดือนละ 900 บาท เป็นต้น นั่นคือไม่ว่าซื้ออะไรก่อนหลัง นอกจากต้องเตรียมเงินค่างวดผ่อนแล้ว ยังต้องเตรียมเงินเป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า “บริการหลังการขาย” อีกต่างหากก้อนหนึ่ง ข้อแตกต่างระหว่างรถกับบ้านยังมีอีกเรื่องที่สำคัญ สมมติว่าผ่อนหมดภายใน 4 ปีเท่ากัน ราคาบ้าน 1 ล้าน เวลาผ่านไปถ้าขายเป็นบ้านมือสองอาจจะราคาเพิ่มนิดหน่อยเป็น 1.1 ล้านบาท หรือขี้หมูขี้หมาก็ราคาเท่าทุนคือ 1 ล้านเท่าเดิม ขณะที่ราคารถยนต์เมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี ขายเป็นรถมือสอง ขี้หมูขี้หมาราคาหายไปแน่ ๆ 20-30% โดยเฉลี่ย อันนี้พูดเหมารวมกรณีรถยอดนิยมและสภาพเป๊ะมากนะ เหตุผลคือค่าเสื่อมราคาของทรัพย์แตกต่างกัน ค่าเสื่อมของบ้านมีน้อยกว่าค่าเสื่อมราคาของรถนั่นเอง

ที่มา : https://www.matichon.co.th
( 23 มีนาคม 2558 )
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line